ศึกษาความเป็นไปได้โครงการ การเคหะ ภาคเอกชนประเทศ กัมพูชา










การจัดการเมืองเสียมราฐอย่างยั่งยืน

30 พฤษภาคม 2017 (จำนวนคนอ่าน 251)

เสียมราฐ หรือที่รู้จักกันในนาม เสียมเรียบ เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศกัมพูชาที่มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว จากการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวจำนวนหลายล้านคนต่อปีที่ต้องการมาชมเมืองพระนคร (อังกอร์) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "นครวัด” เทวสถานอันยิ่งใหญ่ และจำนวนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็ยิ่งเป็นการเร่งความเสื่อมทรุดเสียหายให้แก่สิ่งก่อสร้างต่างๆ จึงเป็นภาระหน้าที่ขององค์กรผู้จัดการบริหารที่จะต้องดูแลซ่อมแซมและบูรณะให้คงอยู่ในสภาพดี ดังนั้น การวางแผนอย่างเป็นระบบจึงเป็นเรื่องที่กัมพูชากำลังเร่งดำเนินการ ควบคู่กับการอนุรักษ์โบราณสถาน และการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเติบโต
 
นาย Bun Tharith รองผู้ว่าราชการจังหวัดเสียมราฐให้ข้อมูลว่า เมื่อปี พ.ศ. 1994 เสียมราฐเริ่มเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกหลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนมีจำนวนแค่ 20,000 คน แต่ในปี พ.ศ. 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่า โดยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนมากที่สุด รองลงมาคือเกาหลีใต้ ไทย และญี่ปุ่น การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจำนวนมากนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเสียมราฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีนักลงทุนจำนวนมากเข้ามาดำเนินธุรกิจต่างๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้า เป็นต้น ทำให้เสียมราฐเป็นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็วมากที่สุดของกัมพูชา หากไม่นับพนมเปญซึ่งเป็นเมืองหลวง แต่ก่อนเสียมราฐเคยมีโรงแรมอยู่เพียง 5 แห่ง แต่ในปัจจุบันมีโรงแรมตั้งแต่ระดับ 3 ดาว ถึง 5 ดาว รวมกันถึง 186 แห่ง มีร้านอาหารและร้านค้าไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวทุกระดับ ทั้งในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์หรือการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง อัตราการเติบโตด้านท่องเที่ยวของเสียมราฐยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ชาวกัมพูชาจากเมืองอื่นๆ หลั่งไหลเข้ามาเสียมราฐมากขึ้น เกิดความแออัดของเมืองที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การจัดการและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา ปัญหาการจราจรในเขตเมือง รวมถึงการคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็น
 
รัฐบาลกัมพูชามีการวางแผนขยายเมืองออกไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของเสียมราฐ เพื่อลดความแออัดของเมือง โดยใช้แม่น้ำเสียมราฐเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาและการแบ่งโซน ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคที่ยังไม่เรียบร้อย ขณะนี้การพัฒนาแม่น้ำสามารถทำไปได้ครึ่งหนึ่ง โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาไปตลอดเส้นทางลำน้ำที่ไหลลงสู่โตนเลสาบ พื้นที่ริมน้ำถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ถนนริมน้ำมีต้นไม้ใหญ่ประดับประดาโคมไฟสว่างไสวและสร้างความปลอดภัยในยามค่ำคืน นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างทางเดินเท้าและเส้นทางจักรยานไปตลอดแนวแม่น้ำ เพื่อทำให้เสียมราฐเป็นเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งนับได้ว่าเสียมราฐเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอาเซียนที่มีอนาคตสดใส
 
นอกจากนี้ เสียมราฐมีการดำเนินโครงการเพื่อช่วยสร้างงานและลดปัญหาความยากจนของประชาชน โดยมีการท่องเที่ยวเป็นฐานสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ โครงการ "Green Belt” เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในการพัฒนาอาชีพของประชาชนให้สอดประสานไปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่ง Green Belt จะมุ่งพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ เพื่อผลิตวัตถุดิบตอบสนองให้เพียงพอสำหรับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวในเมืองเสียมราฐ ซึ่งแต่ก่อนต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบประเภทผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก และโครงการส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านงานหัตถกรรม โดยนำภูมิปัญญาดั้งเดิมและวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดผลงานเพื่อสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชาวเมืองเสียมราฐ
 
เมืองเสียมราฐถือเป็นตัวอย่างสำหรับการวางแผนและการพัฒนาเมืองซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม การจัดการเมืองจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายที่มีความชัดเจนเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่กระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนในเมืองนั้น ๆ ด้วย
 
--------------------------------------
 
ข้อมูล รายการ ASEAN Connect ตอน 17 เสียมเรียบ…การจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
เรียบเรียง ส่วนอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์
 
 

ความคิดเห็น



  1. โครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ประเทศกัมพูชา
    drsamaihemman.blogspot.com
    พรรคเอกภาพแห่งชาติเขมร - วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/พรรคเอกภาพแห่งชาติเขมร พรรคเอกภาพแห่งชาติเขมร (Khmer National Solidarity Party) เป็น

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น