บทบาทรัฐวิสาหกิจ-เอกชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านPPP ที่มาของโครงการ ซีเนี่ยร์คอมเพล็กซ์ ประขารัฐ ภาคเอกขน ดร.สมัย

บทบาทรัฐวิสาหกิจ-เอกชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านPPP(3) By พลวัตเศรษฐกิจ01 ก.พ. 2559 เวลา 10:00 น.2.1k บทบาทรัฐวิสาหกิจ-เอกชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านPPP(3) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเน้นลดภาระทางการคลังของรัฐด้วยการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น หรือแปลงรัฐวิสาหกิจ ให้อยู่ในรูปบรรษัท ต่อมา ในปี พ.ศ.2556 รัฐบาลได้ปรับนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเน้นสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทุนกับกิจการของรัฐบาลหรือ Public Private Partnerships : PPP [1] โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้กำหนดนิยามของ PPP ว่า เป็นการทำสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการให้บริการสาธารณะ ทั้งในด้านพาณิชย์ เช่น การก่อสร้างทางด่วน ท่าเรือ และในด้านสังคม เช่น การก่อสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น ซึ่งภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในการออกแบบก่อสร้าง บริหารและบำรุงรักษาโครงการ และภาครัฐจะนำทรัพย์สินเช่น ที่ดิน เพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน หรือจ่ายค่าตอบแทนคืนให้กับเอกชนตามระยะเวลาสัญญา รัฐบาลได้เริ่มใช้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558 – 2562[2] ทั้งนี้ จากการสำรวจยังไม่พบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ทางด้านกระบวนการกำหนดนโยบายรัฐวิสาหกิจของไทย มีการดำเนินการผ่านทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หน้าที่หลักของคณะกรรมการฯ ได้แก่ การเสนอแนะนโยบายในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ให้แก่คณะรัฐมนตรี รวมทั้งกำกับดูแลผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในกิจการของรัฐ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นหน่วยงานดำเนินการ จากการสำรวจงานวิจัยยังไม่พบงานวิจัยที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีงานวิจัยเกี่ยวกับการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจตามระบบการประเมินที่ สคร. กำหนด เช่น วริษฐ์ วิปุลานุสาสน์, จิรพล สังข์โพธิ์ และ ภูมิพร ธรรมสถิตเดช (2557) ศึกษาระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ ซึ่งประยุกต์ใช้แนวคิดและเกณฑ์การประเมินจากรางวัล Malcolm Baldridge National Quality Award และรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) ในการสร้างระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กรอบการวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จสำหรับธุรกิจชั้นเลิศ ประกอบด้วย 7 มิติ ได้แก่ Leadership, Policy and Strategy, Customer Focus, Information Analysis, Human Resource Focus, Process Management และ Business Results โดยใช้กรณีศึกษาการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผลการศึกษาพบว่า กฟน. มีการพัฒนาองค์กรในทุกมิติทั้งด้านการบริการลูกค้า แนวทางบริหารจัดการเชิงธุรกิจ การเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงคุณภาพบริการ และสร้างระบบการพัฒนาผลิตภาพหน่วยงานโดยรวม การปรับเปลี่ยนนโยบายรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความสำคัญต่อการปรับปรุงสวัสดิการโดยรวมของประเทศ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประเด็นการเริ่มเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เนื่องจาก AEC จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้เงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย รวมทั้งกิจการของรัฐ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร)โดย สำนักนโยบายและแผนรัฐวิสาหกิจ (2555) ได้ศึกษาผลของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community : AEC ต่อรัฐวิสาหกิจไทยเพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและปรับปรุงแนวนโยบายผู้ถือหุ้นภาครัฐให้เหมาะสม ซึ่งผลการศึกษาพบว่า AEC มีผลทั้งเชิงบวกและลบต่อรัฐวิสาหกิจ ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ ทั้งนี้รัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะกึ่งผูกขาดจะต้องปรับตัวจากการแข่งขันมากขึ้น ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพสูงควรขยายกิจการไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจจากการขยายขนาดตลาดครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้าน การกำหนดรูปแบบการทำ PPP มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการขนาดใหญ่ โดยทั่วไป การร่วมลงทุนของภาคเอกชนในลักษณะหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับเอกชนนั้นมี 4 รูปแบบใหญ่ คือ รูปแบบ Build Transfer Operate – BTO รูปแบบ Build Own Operate BOO รูปแบบ Operation and Maintenance Contract O&M รูปแบบ Build Operate Transfer BOT รัฐบาลตัดสินใจจะใช้รูปแบบไหนนั้น ต้องยึดประโยชน์สาธารณะ ยึดหลักความเป็นธรรมและแบ่งปันผลประโยชน์กับภาคเอกชนอย่างเหมาะสม สำคัญที่สุดต้องเลือกรูปแบบที่ทำให้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเดินหน้าและเกิดขึ้นจริงด้วยประสิทธิภาพสูงสุด ครับผม ----------------------- บรรณานุกรม อนุสรณ์ ธรรมใจ, ศิวะ หงส์นภาและศศิมา วงศ์เสรี โครงการสังเคราะห์องค์ความรู้รัฐวิสาหกิจ [1]สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ http://www.ppp.sepo.go.th/ppps/ppps.htm [2]ประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเรื่อง แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558 – 2562 ประกาศ ณ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความคิดเห็น