ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สุสานหุมายูน



สุสานหุมายูน
อากาศเริ่มสบายขึ้น ย่างกรายเข้ามาคือฤดูหนาว และหน้ากฐิน ซึ่งมีทั้งกฐินหลวงและกฐินราษฎร์ ตลอดจนการประชุมต่างๆ ซึ่งอัดแน่นจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี โดยเฉพาะงานเด่นคือแรลลี่อาเซียน-อินเดีย และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-อินเดียในช่วงเดือนธันวาคมนี้
คณะต่างๆ ที่มาประชุมในกรุงนิวเดลีส่วนใหญ่จะไม่มีเวลาชมเมือง เพราะพอลงเครื่องบินก็เข้าโรงแรมที่พัก เข้าห้องประชุม ประชุมๆๆๆๆ อาจมีเวลานั่งรถชมวิวใกล้ๆ บ้าง ถึงเวลา เก็บกระเป๋า ขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย … หลายคนที่เพิ่งมาอินเดียอยากไปเห็นอนุสรณ์ของความรักอันยิ่งใหญ่ ซึ่งติดอันดับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกด้วยนะ …ใช่ครับ ทัชมาฮาล (Taj Mahal)

ที่เมืองอัครานั่นเอง
มาอินเดียถ้าไม่ไปดูทัชมาฮาล ก็เหมือนไปเมืองไทยแล้วไม่ได้ไปชมวัดพระแก้วนั่นเลยเชียว


พื้นที่ภายในสุสานหุมายูน
แต่ในเมื่อเวลาจำกัด ท่านมีเวลาในกรุงนิวเดลีเพียงสั้นๆ อาจหาเวลาไปชมสถานที่สำคัญอันเป็นต้นแบบของทัชมาฮาลอันยิ่งใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ ในกรุงนี้เองเป็นการทดแทน คือ สุสานหุมายูน (Humayun’s Tomb) ได้อย่างสะดวก องค์การยูเนสโกประกาศให้สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2536 ค่าผ่านประตูก็แค่ 10 รูปีสำหรับคนไทยและสมาชิกประเทศบิมสเทค .. แต่ต้องโชว์หนังสือเดินทางตอนซื้อบัตรผ่านประตูเพื่อพิสูจน์สัญชาติด้วยนะ ครับ


พระเจ้าหุมายูน
สุสานหุมายูนเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใช้หินทราย แดงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของพระเจ้าหุมายูน ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่สองของราชวงศ์โมกุล สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1565 (พ.ศ. 2108 ตรงกับช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก) โดยสถาปนิกชาวเปอร์เชียชื่อ มิรัค มีร์ซา กิยาส และอำนวยการสร้างโดยพระนางหะมิดะ ภาณุ เบกุม มเหสีองค์หนึ่งของพระองค์ (คนละคนกับหะยี เบกุม ซึ่งเป็นมเหสีองค์แรก) ใช้เวลาก่อสร้างรวม 7 ปี นับเป็นสุสานที่มีสวนอยู่ด้วยแห่งแรก

ในอนุทวีปกันเลย
นอกเหนือจากหลุมฝังศพของพระเจ้าหุมายูนแล้ว ยังมีหลุมฝังศพของมเหสีทั้งหลายของพระองค์ รวมทั้งพระนางเบกุมเองอยู่ภายในสุสานนี้ด้วย แถมยังมีหลุมฝังของช่างตัดผมคนโปรดของพระองค์อยู่ในบริเวณสุสานเช่นกัน สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ลี้ภัยของ พหธุร์ ชาห์ ซะฟาร์ จักรพรรดิโมกุลองค์สุดท้ายในช่วงกบฏอินเดีย (Indian Rebellion 1857) เมื่อ ค.ศ. 1857

(สมัยรัชกาลที่ 4) ก่อนที่จะถูกทหารอังกฤษจับกุมตัวและส่งไปกักขังที่กรุงย่างกุ้งในเวลาต่อมา


ซ้าย – มองจากหอสมุดในป้อมบูรณชีล เห็นสุสานหุมายูนทางด้านซ้ายของภาพ

ขวา – ช่องบันไดนี้แหละครับที่ทำให้พระเจ้าหุมายูนถึงกับสิ้นชีพ สังเกตความชันของขั้นบันได คนเดินลงยังต้องใช้มือยันฝาผนังช่วย
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1556 พระเจ้าหุมายูนเดินขึ้นไปบนหอสมุดซึ่งเป็นหอสูงไว้สำหรับดูดาวด้วยในป้อม บูรณขีล (Purana Quila แปลว่าป้อมเก่าหรือ Old Fort) เพื่อขึ้นไปสวดมนต์ตามปกติ พอสวดเสร็จ ขาลงทรงตกบันไดลงมาถึงแก่ชีวิต

(ผมเคยไปสำรวจหอที่ว่านี้ ยืนยันว่าขั้นบันไดแต่ละขั้นสูงจริงๆ ประมาณ 1 ศอกได้ครับ … เดชะบุญ ไม่ได้ตามไปเฝ้าพระเจ้าหุมายูน!)
ภายหลังสวรรคต พระศพยังคงถูกฝังไว้ในพื้นที่ป้อมบูรณขีล ก่อนที่จะย้ายไปไว้ที่สุสานแห่งนี้เมื่อสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1572
ความโดดเด่นของสุสานหุมายูนอยู่ที่การออก แบบโดยคุณมิรัค มีร์ซา กิยาส สถาปนิกเชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งถูกว่าจ้างมาจากเมืองเหรัต (Herat) ในอัฟกานิสถานและเคยออกแบบสิ่งก่อสร้างหลายแห่งในดินแดนบุคารา (Bukhara)

ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอุซเบกิสถานในปัจจุบัน คุณกิยาสใช้จินตนาการว่าบนสรวงสวรรค์ควรจะเป็นดินแดนร่มรื่น จึงได้สร้างสวนขึ้นภายในสุสาน นัยว่าผู้ตายจะได้อยู่ในสถานที่น่ารื่นรมดั่งอยู่บนสวรรค์นั่นเอง แต่คุณกิยาสก็ชิงไปอยู่สวรรค์เสียก่อนที่จะออกแบบเสร็จ คุณไซยิด มูฮัมหมัด ลูกชายของท่านรับช่วงออกแบบต่อจนเสร็จสมบูรณ์
สวนที่คุณกียาสออกแบบไว้ ภาษาฮินดีเรียกว่า จาร์บาค (Charbagh) หรือจตุรภาค นั่นคือสวนที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยแบ่งภายในเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายอันอยู่ภายในสี่เหลี่ยมใหญ่ หรือจะว่ากันง่ายๆ คือ สี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายอันมาต่อกันเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสใหญ่ 1 อันนั่นเอง … คงนึกภาพออกนะครับ


ภาพถ่ายทางอากาศของสุสานหุมายูน (ซ้าย) และทัชมาฮาล (ขวา)

แสดงถึงลักษณะทางกายภาพของสวนแบบจตุรภาคอย่างชัดเจน
ด้วยความงดงามและยิ่งใหญ่ด้วยศิลปะผสมแบบโม กุลกับอิสลาม พระเจ้าชาห์ จาฮัน จึงได้แรงบันดาลใจจากสุสานแห่งนี้ไปสร้างใหม่ใหญ่กว่าเก่าที่เมืองอัครา เพื่อเป็นสุสานสำหรับพระนางมุมตัส มเหสีสุดที่รัก ใช้เวลาสร้างกว่า 20 ปี คือ ทัชมาฮาล

อันยิ่งใหญ่นั่นเอง


ภายในสุสานหุมายูน เส้นตรงกลางภาพคือทางน้ำจากตัวสุสานถึงประตูทางเข้า
หลังก่อสร้างเสร็จแล้ว 40 ปี มีพ่อค้าวาณิชย์ชาวอังกฤษชื่อ คุณวิลเลียม ฟินช์ มีโอกาสเข้าชมสุสานหุมายูน ได้สาธยายความงดงามการตกแต่งภายในของท้องพระโรงกลางไว้ว่างดงามมาก มีพรมประดับมากมาย มีกระโจมเล็กและผ้าขาวสะอาดคลุมจุดที่ฝังพระศพ มีคัมภีร์กุรอาน ดาบ ผ้าโพกพระเศียร และรองพระบาท ตั้งอยู่ด้วย ปัจจุบันสิ่งของเหล่านี้ไม่อยู่ตรงนี้แล้ว สถานที่ก็อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างจะทรุดโทรม และอยู่ระหว่างการบูรณะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในปีที่พระเจ้าหุมายูนสวรรคต พระเจ้าอัคบาร์ พระโอรสของพระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองอัครา ส่งผลให้สุสานหุมายูนขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดี เริ่มมีสภาพทรุดโทรม แถมชาวบ้านยังเข้าไปอาศัยอยู่แล้วปลูกผักทำไร่ใบยาสูบในนั้นด้วย

เลยไปกันใหญ่ เอาไม่อยู่เลยล่ะครับ …
เมื่ออังกฤษเข้าครอบครองเดลีอย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด มีการบูรณะสถานที่แห่งนี้ แต่มีคนอุตริไอเดียบรรเจิดพวกคิดว่าข้าเก่งที่สุดแล้วในสามโลก ดัดแปลงสวนเป็นแบบอังกฤษ แต่เมื่อความทราบถึงหูลอร์ดเคอร์สัน (Lord Curzon) ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียเมื่อ ค.ศ. 1903 (รัชกาลที่ 5) ท่านลอร์ดถึงกับออกคำสั่งประมาณว่า ของเก่าเค้าดีอยู่แล้ว อย่าไปรื้อสิ

ไอ้พวกนี้ ปรับซะใหม่ให้ใกล้เคียงของเก่าซะไวๆ … สวนจึงได้กลับมางดงามอีกครั้งหนึ่ง
สวยได้พักใหญ่ โดนอีกครับ … ชะตากรรมอันโหดร้ายของสุสานแห่งนี้ยังไม่หมด มนุษย์ทะเลาะกันดันเดือดร้อนสถานที่ด้วย เมื่อปี 2490 คราวอินเดียและปากีสถานตั้งเป็นประเทศ รัฐบาลอินเดียได้ใช้พื้นที่บริเวณป้อมบูรณขีลและสุสานหุมายูนเป็นค่ายที่พัก สำหรับผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมที่จะต้องย้ายไปอยู่ดินแดนปากีสถาน กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการโยกย้ายก็ปาเข้าไปร่วม 5 ปี พื้นที่ภายในสุสานและสวนอันงดงามเสียหายมากมาย กรมสำรวจโบราณคดีได้เข้าฟื้นฟูสถานที่ในเวลาต่อมา


ประตูทางเข้าสู่สุสานหุมายูน
ในปี 2536 มีการบูรณะฟื้นฟูอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สุสานหุมายูนได้รับสถานะมรดกโลก ทำให้หน่วยงานต่างๆ

หันมาสนใจการบูรณะสถานที่มากขึ้น และใช้เวลาถึง 10 ปี จึงได้เป็นสภาพที่เราได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

(แต่ก็ยังคงปรับปรุงหลายพื้นที่อยู่ต่อไปนะครับ)
ในกรุงนิวเดลียังมีสถานที่น่าสนใจอื่นๆ อีกไม่น้อย เช่น กุตุบมีนาร์ (Qutub Minar) ซึ่งเป็นมรดกโลกเช่นเดียวกับสุสานหุมายูน ป้อมแดง (Lal Qila หรือ Red Fort) พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อนุสรณ์สถานคานธี(สถานที่ท่านคานธีพำนักอยู่ในช่วง

140 วันสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่จะถูกสังหารในบ้านแห่งนี้) ฯลฯ สถานทูตได้จัดทำข้อมูลโดยสังเขปของสถานที่เหล่านี้

ติดตามได้ที่ http://www.thaiemb.org.in/th/information/infor_05.php เลยครับ
คราวหน้า ถ้าไม่ผิดคิว ผมจะพาท่านผู้อ่านไปเที่ยวกุตุบมีนาร์ และถ้ามีเวลาพอ จะพาแวะอนุสรณ์สถานคานธีเป็นการปิดท้าย
ตอนนี้ขอเตรียมตัวเตรียมใจรอรับสารพัดคณะ และสารพันงานที่ยังต้องรอ ต้องทำ ต้องจำแนก ต้องแจก และต้องจบ

(แต่คงไม่เร็ว เพราะหลายปัจจัยทั้งแขกทั้งไทยเลยล่ะ)
หากงานไม่จบ … ผมคงจะจบเองล่ะครับ พี่น้องงงงง!

กิตินัย นุตกุล

15 ตุลาคม 2555


thaiemb.india@gmail.com

ความคิดเห็น

  1. กล้วยหอมทอง เบอร์ 5 ของ ดร.สมัย เหมมั่น วิเคราะห์การตลาดการจำหน่าย ในประเทศไทย
    drsamaihemman.blogspot.com

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น